วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปีบ...ราชินีจากป่าภาคตะวันตก โดย เดชา ศิริภัทร




ปีบ : ราชินีจากป่าภาคตะวันตก


     ขณะที่เขียนต้นฉบับต้นไม้ใบหญ้าฉบับนี้ เป็นช่วงต้นเดือนสิงหาคม ใกล้ถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อันถือเป็นวันแม่แห่งชาติของคนไทย เดือนสิงหาคมนับเป็นเดือนที่อยู่ในตอนกลางของฤดูฝน อาจถือได้ว่ามีฝนตก (โดยเฉลี่ย) สูงที่สุดเดือนหนึ่งในรอบปี โดยเฉพาะแถบภาคกลาง ซึ่งรวมภาคตะวันตกเอาไว้ด้วย เมื่อนึกถึงภาคตะวันตกของไทย หลายคนคงนึกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่มีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โตที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งติดต่อกับป่าผืนใหญ่ในประเทศพม่า(เมียนม่าร์) ทำให้เกิดเป็นป่าผืนใหญ่ผืนหนึ่งของทวีปเอเชีย มีคุณค่าในด้านต่างๆ อย่างมหาศาล นับเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของชาวไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่สมควรช่วยกันรักษาเอาไว้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และยั่งยืนสืบไปถึงชั่วลูกหลานในอนาคต

     จากผืนป่าตะวันตกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ เป็นแหล่งกำเนิดและอาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลาย เป็นความร่ำรวยทางระบบนิเวศน์และพันธุกรรม อันเรียกรวมว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ อาจกล่าวได้ว่า เรายังรู้จักและเข้าใจสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในบริเวณป่าตะวันตกน้อยมาก ยังมีสิ่งที่ต้องศึกษาวิจัยและนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอีกมากมาย แม้แต่พืชบางชนิดที่คนไทยรู้จักดี และนำมาปลูกกันอย่างกว้างขวาง คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากผืนป่าตะวันตก ช่วงปลายของฤดูฝน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป เป็นช่วงออกดอกของต้นไม้ที่มีกำเนิดจากป่าตะวันตกชนิดหนึ่ง นั่นคือ ต้นปีบ ซึ่งมีความงดงามและกลิ่นหอมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนอาจเรียกได้ว่าเป็นราชินีจากผืนป่าตะวันตก คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้าฉบับนี้จึงขอนำเรื่องราวของปีบมานำเสนอ เพราะผู้อ่านอาจพบเห็นต้นปีบออกดอกให้ชื่นชมตั้งแต่บัดนี้ไปจนประมาณเดือนพฤศจิกายน

ปีบ : จากป่าเบญจพรรณตะวันตกสู่ชุมชน


     ปีบมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Millingtonia hortensis Linn. f. อยู่ในวงศ์ Bignoniaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๒๕ เมตร ลำต้นค่อนข้างตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ กิ่งมักห้อยลง เปลือกหุ้มลำต้นสีเทาหนาแตกเป็นร่องขรุขระ ลักษณะเนื้อเปลือกคล้ายไม้ก๊อก
     ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยเป็นรูปไข่ปลายแหลมกว้าง ๒-๓ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓-๗ เซนติเมตร แผ่นใบบางเรียบ เห็นเส้นกลางใบและต่อมขนได้ชัด
     ดอกปีบเป็นช่อขนาดใหญ่ ออกตามปลายกิ่ง ขนาดยาว ๑๖-๔๐ เซนติเมตร ดอกย่อยมีกลีบดอกขนาดเล็ก ๕ กลีบ ส่วนโคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวคล้ายดอกเข็มยาวประมาณ ๕ เซนติเมตร แต่ละดอกมีเกสรตัวผู้ ๔ อัน เกสรตัวเมีย ๑ อัน เมื่อติดฝักมีขนาดกว้าง ๑.๕-๒ เซนติเมตร ยาว ๒๘-๓๖ เซนติเมตร ฝักแก่สีน้ำตาล มีเมล็ดจำนวนมาก แต่ละเมล็ดมีแผ่นปีกบางใส ทำให้ลอยตามลมไปได้ไกล

     ปีบสามารถออกดอกได้ปีละ ๒ ครั้ง ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ ช่วงปกติราวเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน และช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ดอกปีบมีสีขาวนวลออกรวมเป็นช่อขนาดใหญ่ ดอกทยอยบานครั้งละไม่มาก ดอกมักจะห้อยลงพื้น เมื่อดอกบานตอนกลางคืนแล้ว มักจะร่วงหล่นลงพื้นดินในตอนเช้า ทำให้พื้นดินใต้ต้นปีบมีดอกปีบสีขาวปกคลุมอยู่โดยรอบ ดอกปีบเริ่มบานและส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ตอนเย็น และส่งกลิ่นหอมไปไกลตลอดทั้งคืน เป็นไม้ดอกยืนต้นที่ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคเหนือ ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับปีบมาเนิ่นนาน เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดของปีบ คือบริเวณป่าเบญจพรรณภาคตะวันตก รอยต่อระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า มีรายงานว่าประเทศอินเดียก็เป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของปีบอีกประเทศหนึ่งด้วย จึงเห็นได้ว่าปีบเป็นพืชเฉพาะถิ่นของ ๓ ประเทศนี้ ชื่อที่เรียกคือ ปีบ (ภาคกลาง) กาดสะลอง กาซะลอง (ภาคเหนือ) กางของ (อีสาน) บางครั้งก็เรียกว่า ก้องกลางดง (ภาคกลาง) ส่วนในภาษาอังกฤษเรียกว่า Indian Cork Tree

ประโยชน์ของปีบ


คนไทยรู้จักประโยชน์ด้านสมนุไพรของปีบมาเนิ่นนาน และนำมาใช้รักษาโรคหลายโรค เช่น

ดอก : ดอกแห้ง รสหวาน ขม หอม ใช้สูบแก้ริดสีดวงจมูก ปรุงเป็นยาบำรุงน้ำดี บำรุงเลือด บำรุงกำลัง แก้ลม ขยายหลอดลม รักษาโรคหืด

ราก : รสเผื่อน บำรุงปอด แก้ปอดพิการ แก้วัณโรค แก้เหนื่อย หอบ

เปลือกของลำต้นใช้ทำจุกก๊อก (จึงเรียกว่า INDIAN CORK TREE) เนื้อไม้อ่อน สีเหลืองอ่อน ใช้ทำเครื่องเรือน และเครื่องตกแต่งบ้าน ใช้ก่อสร้างในร่มได้

     ปีบเป็นต้นไม้มีดอกหอมที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่โบราณ วรรณคดีในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นหลายเรื่องได้บรรยายถึงปีบในตอนชมดง เช่น ในบทประพันธ์ของสุนทรภู่ และเรื่องอิเหนาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) เป็นต้น
   
     ปัจจุบันปีบเป็นต้นไม้ที่รู้จักกันดี เพราะมีร่มเงา ร่มรื่น รูปทรงต้นงดงาม ปลูกง่าย ทนทาน ให้ดอกสม่ำเสมอ มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ขยายพันธุ์และดูแลรักษาได้ง่าย นิยมปลูกในสวนสาธารณะ ทางเท้า ๒ ข้างถนน และตามโรงแรม โรงเรียน หรือบ้านเรือนที่มีบริเวณสนามกว้างพอสมควร เมืองไทยของเรามีต้นไม้ดอกหอมอยู่มากมายให้ชื่นชม ทั้งรูปทรง สีสัน และกลิ่นหอมตลอดทั้งปี น่าเสียหายที่คนไทยอีกมากมายไม่ทราบ และไม่ใช้ประโยชน์ในสิ่งมีค่าของตนอย่างที่ควรจะเป็น ก่อนหมดฤดูฝนปีนี้ขอให้ผู้อ่านหาโอกาสชื่นใจกับรูปทรงและกลิ่นหอมของดอกปีบกันทุกท่าน ถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็คือเดินทางไปเยี่ยมเยียนปีบถึงท้องถิ่นต้นกำเนิด คือผืนป่าภาคตะวันตกอันสมบูรณ์และทรงคุณค่าของมวลมนุษยชาติ

.........................................................................................................................................................................................

ข้อมูลบทความ

นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 293
เดือน/ปี: กันยายน 2004
คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า
นักเขียนรับเชิญ: เดชา ศิริภัทร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม