วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

ข่าวดี...มีต้นกล้าปีบขาวแจก !

มี...ต้นกล้าปีบขาว ขนาดสูงประมาณ 15 เซนติเมตร แจกครับ 


     เหตุที่เปิดแจกก็ไม่มีอะไรมากครับ เพราะว่าทางเจ้าของบล็อกนึกสนุกเพาะต้นกล้าปีบขาวไว้พอสมควรเมื่อหลายเดือนก่อนและตอนนี้ก็เริ่มงอกเงยตั้งเรียงรายในเรือนเพาะชำซะเต็ม ก็เลยอยากจะบอกข่าวดีสำหรับเพื่อนๆท่านใดที่สนใจขอรับต้นกล้าปีบขาวก็แจ้งความประสงค์กันเข้ามาครับ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วสงสัยจะไม่เหลือที่ว่างให้เพาะต้นกล้าไม้อื่นๆอีกเป็นแน่

     รีบๆหน่อยนะครับเพราะเริ่มไปตั้งกระทู้แจกผ่านบอร์ดเกษตรพอเพียงเอาไว้ด้วย ยังไงเมลล์มาุคุยกันนะครับ อยากได้กี่ต้นก็บอกกันมา แต่มีข้อแม้นิดเดียวคือ เขียนมาเล่าสักนิดว่าอยากได้ต้นกล้าปีบขาวไปทำอะไร และที่สำคัญเลยค่าใช้จ่ายในการจัดส่งต้นกล้าเพื่อนๆที่สนใจขอรับเข้ามาต้องช่วยออกเองเน้อ

ติดต่อพูดคุยกันเข้ามาได้ผ่านอีเมลล์ Cloudatlas0.0@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ปีบ...ราชินีจากป่าภาคตะวันตก โดย เดชา ศิริภัทร




ปีบ : ราชินีจากป่าภาคตะวันตก


     ขณะที่เขียนต้นฉบับต้นไม้ใบหญ้าฉบับนี้ เป็นช่วงต้นเดือนสิงหาคม ใกล้ถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อันถือเป็นวันแม่แห่งชาติของคนไทย เดือนสิงหาคมนับเป็นเดือนที่อยู่ในตอนกลางของฤดูฝน อาจถือได้ว่ามีฝนตก (โดยเฉลี่ย) สูงที่สุดเดือนหนึ่งในรอบปี โดยเฉพาะแถบภาคกลาง ซึ่งรวมภาคตะวันตกเอาไว้ด้วย เมื่อนึกถึงภาคตะวันตกของไทย หลายคนคงนึกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ที่มีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โตที่สุดในประเทศไทย รวมทั้งติดต่อกับป่าผืนใหญ่ในประเทศพม่า(เมียนม่าร์) ทำให้เกิดเป็นป่าผืนใหญ่ผืนหนึ่งของทวีปเอเชีย มีคุณค่าในด้านต่างๆ อย่างมหาศาล นับเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของชาวไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่สมควรช่วยกันรักษาเอาไว้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า และยั่งยืนสืบไปถึงชั่วลูกหลานในอนาคต

     จากผืนป่าตะวันตกอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ เป็นแหล่งกำเนิดและอาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลาย เป็นความร่ำรวยทางระบบนิเวศน์และพันธุกรรม อันเรียกรวมว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ อาจกล่าวได้ว่า เรายังรู้จักและเข้าใจสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในบริเวณป่าตะวันตกน้อยมาก ยังมีสิ่งที่ต้องศึกษาวิจัยและนำมาพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอีกมากมาย แม้แต่พืชบางชนิดที่คนไทยรู้จักดี และนำมาปลูกกันอย่างกว้างขวาง คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากผืนป่าตะวันตก ช่วงปลายของฤดูฝน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป เป็นช่วงออกดอกของต้นไม้ที่มีกำเนิดจากป่าตะวันตกชนิดหนึ่ง นั่นคือ ต้นปีบ ซึ่งมีความงดงามและกลิ่นหอมโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนอาจเรียกได้ว่าเป็นราชินีจากผืนป่าตะวันตก คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้าฉบับนี้จึงขอนำเรื่องราวของปีบมานำเสนอ เพราะผู้อ่านอาจพบเห็นต้นปีบออกดอกให้ชื่นชมตั้งแต่บัดนี้ไปจนประมาณเดือนพฤศจิกายน

ปีบ : จากป่าเบญจพรรณตะวันตกสู่ชุมชน


     ปีบมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Millingtonia hortensis Linn. f. อยู่ในวงศ์ Bignoniaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง ๒๕ เมตร ลำต้นค่อนข้างตรง เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ กิ่งมักห้อยลง เปลือกหุ้มลำต้นสีเทาหนาแตกเป็นร่องขรุขระ ลักษณะเนื้อเปลือกคล้ายไม้ก๊อก
     ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยเป็นรูปไข่ปลายแหลมกว้าง ๒-๓ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓-๗ เซนติเมตร แผ่นใบบางเรียบ เห็นเส้นกลางใบและต่อมขนได้ชัด
     ดอกปีบเป็นช่อขนาดใหญ่ ออกตามปลายกิ่ง ขนาดยาว ๑๖-๔๐ เซนติเมตร ดอกย่อยมีกลีบดอกขนาดเล็ก ๕ กลีบ ส่วนโคนดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวคล้ายดอกเข็มยาวประมาณ ๕ เซนติเมตร แต่ละดอกมีเกสรตัวผู้ ๔ อัน เกสรตัวเมีย ๑ อัน เมื่อติดฝักมีขนาดกว้าง ๑.๕-๒ เซนติเมตร ยาว ๒๘-๓๖ เซนติเมตร ฝักแก่สีน้ำตาล มีเมล็ดจำนวนมาก แต่ละเมล็ดมีแผ่นปีกบางใส ทำให้ลอยตามลมไปได้ไกล

     ปีบสามารถออกดอกได้ปีละ ๒ ครั้ง ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ ช่วงปกติราวเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน และช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ดอกปีบมีสีขาวนวลออกรวมเป็นช่อขนาดใหญ่ ดอกทยอยบานครั้งละไม่มาก ดอกมักจะห้อยลงพื้น เมื่อดอกบานตอนกลางคืนแล้ว มักจะร่วงหล่นลงพื้นดินในตอนเช้า ทำให้พื้นดินใต้ต้นปีบมีดอกปีบสีขาวปกคลุมอยู่โดยรอบ ดอกปีบเริ่มบานและส่งกลิ่นหอมตั้งแต่ตอนเย็น และส่งกลิ่นหอมไปไกลตลอดทั้งคืน เป็นไม้ดอกยืนต้นที่ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคเหนือ ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกับปีบมาเนิ่นนาน เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดของปีบ คือบริเวณป่าเบญจพรรณภาคตะวันตก รอยต่อระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า มีรายงานว่าประเทศอินเดียก็เป็นแหล่งกำเนิดดั้งเดิมของปีบอีกประเทศหนึ่งด้วย จึงเห็นได้ว่าปีบเป็นพืชเฉพาะถิ่นของ ๓ ประเทศนี้ ชื่อที่เรียกคือ ปีบ (ภาคกลาง) กาดสะลอง กาซะลอง (ภาคเหนือ) กางของ (อีสาน) บางครั้งก็เรียกว่า ก้องกลางดง (ภาคกลาง) ส่วนในภาษาอังกฤษเรียกว่า Indian Cork Tree

ประโยชน์ของปีบ


คนไทยรู้จักประโยชน์ด้านสมนุไพรของปีบมาเนิ่นนาน และนำมาใช้รักษาโรคหลายโรค เช่น

ดอก : ดอกแห้ง รสหวาน ขม หอม ใช้สูบแก้ริดสีดวงจมูก ปรุงเป็นยาบำรุงน้ำดี บำรุงเลือด บำรุงกำลัง แก้ลม ขยายหลอดลม รักษาโรคหืด

ราก : รสเผื่อน บำรุงปอด แก้ปอดพิการ แก้วัณโรค แก้เหนื่อย หอบ

เปลือกของลำต้นใช้ทำจุกก๊อก (จึงเรียกว่า INDIAN CORK TREE) เนื้อไม้อ่อน สีเหลืองอ่อน ใช้ทำเครื่องเรือน และเครื่องตกแต่งบ้าน ใช้ก่อสร้างในร่มได้

     ปีบเป็นต้นไม้มีดอกหอมที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่โบราณ วรรณคดีในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นหลายเรื่องได้บรรยายถึงปีบในตอนชมดง เช่น ในบทประพันธ์ของสุนทรภู่ และเรื่องอิเหนาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) เป็นต้น
   
     ปัจจุบันปีบเป็นต้นไม้ที่รู้จักกันดี เพราะมีร่มเงา ร่มรื่น รูปทรงต้นงดงาม ปลูกง่าย ทนทาน ให้ดอกสม่ำเสมอ มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ขยายพันธุ์และดูแลรักษาได้ง่าย นิยมปลูกในสวนสาธารณะ ทางเท้า ๒ ข้างถนน และตามโรงแรม โรงเรียน หรือบ้านเรือนที่มีบริเวณสนามกว้างพอสมควร เมืองไทยของเรามีต้นไม้ดอกหอมอยู่มากมายให้ชื่นชม ทั้งรูปทรง สีสัน และกลิ่นหอมตลอดทั้งปี น่าเสียหายที่คนไทยอีกมากมายไม่ทราบ และไม่ใช้ประโยชน์ในสิ่งมีค่าของตนอย่างที่ควรจะเป็น ก่อนหมดฤดูฝนปีนี้ขอให้ผู้อ่านหาโอกาสชื่นใจกับรูปทรงและกลิ่นหอมของดอกปีบกันทุกท่าน ถ้าจะให้ดีกว่านั้นก็คือเดินทางไปเยี่ยมเยียนปีบถึงท้องถิ่นต้นกำเนิด คือผืนป่าภาคตะวันตกอันสมบูรณ์และทรงคุณค่าของมวลมนุษยชาติ

.........................................................................................................................................................................................

ข้อมูลบทความ

นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 293
เดือน/ปี: กันยายน 2004
คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า
นักเขียนรับเชิญ: เดชา ศิริภัทร


วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปีบ กาสะลอง กาซะลอง กาดสะลอง - ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ


ปีบ กาสะลอง กาซะลอง กาดสะลอง - ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อสามัญ 

ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Millingtonia hortensis   L.f.

ชื่อสามัญ :    Cork Tree , Indian Cork

วงศ์ :   BIGNONIACEAE

ชื่ออื่น :  กาสะลอง กาดสะลอง (ภาคเหนือ) เต็กตองโพ่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กาสะลอง 

     ปีบ หรือ กาสะลอง เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นตรง เปลือกมีสีเทาเข้มแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศ รากเกิดเป็นหน่อ เจริญเป็นต้นใหม่ได้ ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น กว้าง 13-20 ซม. ยาว 16-26 ซม. ก้านใบยาว 3.5-6 ซม. ตัวใบประกอบด้วยแกนกลางยาว 13-19 ซม. มีใบย่อย 4-6 คู่ ใบย่อย 4-6 คู่ กว้าง 2.5-3 ซม. ยาว 4-5 ซม. มีรูปร่างเป็นรูปหอกแกมรูปไข่ ฐานใบรูปลิ่ม ขอบหยักเป็นซี่หยาบ ปลายเรียวแหลม เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง ดอกเป็นดอกช่อกระจุกแยกแขนง ยาว 10-25 ซม. ดอกย่อยประกอบด้วย กลีบเลี้ยง มีสีเขียว กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาวประมาณ 0.5 ซม. เชื่อมกันเป็นรูประฆังปลายตัด กลีบดอกมีสีขาว กลิ่นหอม กว้างประมาณ 0.5 ซม. ยาว 6-10 ซม. เชื่อมกันเป็นหลอดปากแตร แยกเป็น 5 แฉก 3 แฉกรูปขอบขนาน 2 แฉกล่างค่อนข้างแหลม เกสรเพศผู้มีจำนวน 4 อัน สองคู่ยาวไม่เท่ากัน เกสรเพศเมียมีจำนวน 1 อัน อยู่เหนือวงเกลีบ ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายน - พฤษภาคม ผล เป็นผลแห้งแตก ลักษณะแบนยาวขอบขนาน มีเนื้อ เมล็ดมีจำนวนมา เป็นแผ่นบางมีปีก

การขยายพันธุ์ ปีบ,กาสะลอง

     ตามธรรมชาติ ปีบ หรือ กาสะลอง จะขึ้นกระจัดกระจายอยู่ห่าง ๆ กันตามป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างแห้งแล้งทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การขยายพันธุ์ ปกติใช้การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือนำรากมาตัดเป็นท่อน ๆ แล้วนำมาชำในกระบะทรายที่ผสมขี้เถ้าแกลบ การออกดอกและการติดผล จะออกดอกและติดผล แยกหน่อใหม่ตามรากไปปลูก  เพาะเมล็ด


สภาพที่เหมาะสมในการปลูกปีบ,กาสะลอง - สภาพดินร่วนปนทราย อากาศชุ่มชื้น


เรียบเรียงข้อมูลจาก http://www.jobs-thailand.com/flower
http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_08_2.htm



















วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

"ดอกปีบ" สัญลักษณ์ของพยาบาลไทย


"ดอกปีบ" สัญลักษณ์ของพยาบาลไทย


๒๑ ตุลาคม วันพยาบาลแห่งชาติ

     วันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในฐานะที่พระองค์ท่านทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาล และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา และด้วยพระวิริยะอุตสาหะ นำสิริสุขแก่ปวงชนทุกก้าวพระบาทที่เสด็จไปถึง สมควรเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ให้ตระหนักในภารกิจของวิชาชีพแห่งตนว่าเป็นงานบริการสุขภาพที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าแก่สังคม
     ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าวแล้วนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันพยาบาลแห่งชาติ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2533 สภาการพยาบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในนามของพยาบาลและผดุงครรภ์ทั้งประเทศถือเป็นสิริมงคลอันสูงยิ่ง และได้ร่วมกันจัดงานวันพยาบาลแห่งชาติ ในวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีนับแต่นั้นเป็นต้นมา

     การจัดงานวันพยาบาลแห่งชาติ ได้จัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 21 ตุลาคม 2533 โดย สภาการพยาบาล ร่วมกับสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ฯ ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ในประเทศไทยทุกคน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี การจัดงานวันพยาบาลแห่งชาติในครั้งนั้น สภาการพยาบาลได้จัดทำกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การจัดเดินเทิดพระเกียรติ การให้บริการตรวจสุขภาพ และให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแก่ประชาชน การประชุมวิชาการ และพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ให้ได้รับรางวัลพยาบาลดีเด่นในสาขาต่างๆ และได้จัดงานประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลพยาบาลดีเด่น เป็นประจำต่อเนื่องกันมาทุกปี จนถึงปัจจุบัน และยังได้กำหนดให้ใช้ " ดอกปีบ " เป็นสัญลักษณ์ของพยาบาลไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ . 2534 เป็นต้นมา
     เนื่องจาก " ดอกปีบ " เป็นดอกไม้สีขาวที่มีกลิ่นหอม ต้นปีบเป็นไม้ยืนต้น ขึ้นได้ในที่ดินแห้งแล้ง ราก ลำต้น และดอกใช้เป็นสมุนไพรได้ เปรียบกับพยาบาลในชุด สีขาวผู้พร้อมที่จะประกอบคุณงามความดี ประดุจกลิ่นหอมของดอกปีบ และพร้อมที่สร้างประโยชน์เช่นเดียวกับการเป็นสมุนไพรของ " ดอกปีบ " นั่นเอง

การจัดงานวันพยาบาลแต่ละปีจะมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ คือ

1. เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในฐานะที่พระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวิชาชีพการพยาบาล
2. เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลได้ตระหนักและสำนึกในหน้าที่เยี่ยง พระกรณียกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัติเสมอมา
3. เพื่อเป็นการเดินตามรอยพระบาทในการสร้างสรรค์สุขภาพดีถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน
4. เพื่อเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของพยาบาลทั่วประเทศ

     การจัดกิจกรรมวันพยาบาลแห่งชาติของทุกปี ได้รับความร่วมมือและความสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่งจากสมาชิกพยาบาลและผดุงครรภ์ทั่วประเทศ เนื่องเพราะพยาบาลทุกคนต่างร่วมกันตั้งปณิธานที่จะปฏิบัติภารกิจตามรอยเบื้องพระยุคลบาทตลอดไปสมกับคำขวัญ วันพยาบาลแห่งชาติที่ว่า

" การพยาบาลก้าวไกล เพราะน้ำใจเหล่าพยาบาล
เสียสละและบริการ ตามปณิธานสมเด็จพระบรมราชชนนี "

วัตถุประสงค์หลักการจัดงานวันพยาบาลแห่งชาติ

1. เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในฐานะที่พระองค์ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวิชาชีพการพยาบาล
2. เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลได้ตระหนักและสำนึกในหน้าที่ เยี่ยงพระกรณียกิจที่พระองค์ทรงปฏิบัติเสมอมา
3. เพื่อเป็นการเดินตามรอยพระบาทในการสร้างสรรค์สุขภาพดีถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน
4. เพื่อเป็นศูนย์รวมความสามัคคีของพยาบาลทั่วประเทศ

บทความที่ได้รับความนิยม